หน่วยการเรียนรู้ที่ 1



ความหมายของวัฒนธรรม

มนุษย์ สร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อประโยชน์แห่งการดำรงชีวิตและการสืบทอดเผ่าพันธุ์ ในเมื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นเรื่องที่กว้างใหญ่และมีแง่มุมต่างๆ ให้พิจารณาอย่างซับซ้อน เรื่องของวัฒนธรรมจึงสามารถมองได้หลายแง่มุมไปด้วย มีผู้ให้ความหมายคำว่า "วัฒนธรรม" ต่างๆ กัน(ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้นิยามความหมายของวัฒนธรรม ไว้ ๔ นัย)ดังนี้คือ

๑. สิ่งที่ทำให้เจริญงอก งามแก่หมู่คณะ
๒. วิถีชีวิตของหมู่คณะ
๓. ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียว ก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน
๔. พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานคำอธิบายไว้ว่า


"วัฒนธรรม" หมายถึง ความเจริญในทางวิชาความรู้ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปวิทยา วรรณคดี ศาสนา ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณีและจรรยามารยาท

วัฒนธรรมเป็นมรดกแห่งสังคม มีทั้งส่วนจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น กวีนิพนธ์ ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อร่างสร้างความประพฤติปฎิบัติของประชาชาติ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

พระยาอนุมานราชธน พระยาอนุมานราชธน (๒๕๓๒: ๔๕ - ๔๘) ได้ให้บทนิยาม คำ "วัฒนธรรม"ว่า วัฒนธรรม

คือ" สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิตสร้างขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีแห่งชีวิตของส่วนรวม ถ่ายทอดกันได้ เอาอย่างกันได้

คือผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบต่อเป็นประเพณี กันมา
คือความรู้สึก ความคิดเห็น ความประพฤติ และกิริยาอาการ หรือการกระทำใดๆ ของมนุษย์ในส่วนรวมลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน และสำแดงออกมาให้ปรากฏเป็นภาษา. ศิลปะ ความเชื่อถือ ระเบียบประเพณี เป็นต้น
คือมรดกแห่งสังคม ซึ่งสังคมรับและรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม เป็นผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบต่อเป็น ประเพณีกันมา"




พระเทพเวที ( ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้อธิบายความหมายของวัฒนธรรมเมื่อคราวแสดงปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี ของพระยาอนุมานราชธน เรื่อง " วัฒนธรรม กับการพัฒนา" ไว้เป็นหลายนัยอย่างน่าพิจารณา ดังนี้


วัฒนธรรม เป็นผลรวมของการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์และภูมิธรรมปัญญา ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ
วัฒนธรรม เป็นการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ภูมิธรรมภูมิปัญญาทั้งหมดที่ได้ช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้นๆ อยู่รอด และเจริญสืบต่อได้ และเป็นอยู่อย่างที่เป็นในบัดนี้
วัฒนธรรม คือผลรวมของทุกสิ่งซึ่งเป็นความเจริญงอกงามที่สังคมนั้นๆ ได้ทำไว้ หรือได้สั่งสมมาจนถึงบัดนี้
วัฒนธรรม เป็นทั้งสิ่งที่ทำ ให้เจริญงอกงามสืบมา และเป็นเนื้อตัวของความเจริญงอดกงามที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามต่อไปตลอดจนเป็นเครื่องวัดระดับความเจริญงอกงามของสังคมนั้นๆ

พระเทพเวที ( ประยุทธ์ ปยุตโต)
ในเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แสดงความหมายของวัฒนธรรมไว้ต่างกัน เช่น


วัฒนธรรม เป็นวิธีการดำเนินชีวิตของสังคม เป็นแบบแผนการประพฤติและการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดในสถานการณ์ต่างๆ ที่สมาชิกในสังคมเดียวกันสามารถเข้าใจและชาบชึ้งร่วมกันยอม รับและใช้ปฏิบัติร่วมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ



วัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดจากระบบความสัมพันธ์ระหว่ามนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์ กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ วัฒนธรรมมีทั้งสาระและรูปแบบที่เป็นระบบความคิด วิธีการ โครงสร้างของสังคม สถาบัน ตลอดจนแบบแผนและทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น



ความหมาย / ความเป็นมา / ลักษณะทั่วไปของแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ วิทยากร ภูมิปัญญาชาวบ้านและประสบการณ์อื่นๆ ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนกา รเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

ภูมิปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรม และความสนใจในการแก้ปัญหาของมนุษย์




ความหมายของภูมิปัญญาไทย
จากการศึกษาความหมายที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต่างๆ ซึ่งครอบคลุมคำว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ได้ให้ความหมายพอสรุปได้ ดังนี้

ภูมิปัญญาพื้นบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน(Popular Wisdom) หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา อันเป็นความสามารถและศักยภาพในเชิงแก้ปัญหา การปรับตัวเรียนรู้และสืบทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อการดำรงอยู่รอดของเผ่าพันธุ์จึงตกทอดเป็นมรดก ทางวัฒนธรรมของธรรมชาติ เผ่าพันธุ์ หรือเป็นวิธีของชาวบ้าน ( ยิ่งยง เทาประเสริฐ)

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง กระบวนทัศน์ของบุคคลที่มีต่อตนเอง ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จะมีรากฐานคำสอนทางศาสนา คติ จารีต ประเพณี ที่ได้รับการถ่ายทอดสั่งสอนและปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ปรับปรุงเข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละสมัย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขในส่วนที่เป็นชุมชน และปัจเจกบุคคล ซึ่งกระบวนทัศน์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จำแนกได้ 3 ลักษณะ คือ

1.ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม
2.ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสังคมหรือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
3.ภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบการผลิตหรือประกอบอาชีพที่มีลักษณะมุ่งเน้นระบบการผลิตเพื่อตนเอง
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ในด้านต่างๆ ของการดำรงชีวิตของคนไทยที่เกิดจาก การสะสมประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับแนวความคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาต่างๆ ของตนเอง จนเกิดหลอมตัวเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่เป็นลักษณะของตนเอง ที่สามารถพัฒนาความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาลสมัย ในการแก้ปัญหาของการดำรงชีวิต

( เสรี พงศ์พิศ)

ลักษณะของแหล่งเรียนรู้ จัดได้ 3 ประเภท คือ

1. แหล่งเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษชาติ ภูเขา แม่น้ำ ทะเล น้ำพุรอน ปรากฏการทางธรรมชาติ เช่น ฝนตก แดดออก น้ำท่วม ความแห้งแล้ง

2. แหล่งเรียนรู้ที่จัดขึ้นหรือสร้างขึ้น ซึ่งมีในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ได้สะดวกและรวดเร็ว

3. แหล่งเรียนรู้ที่เป็นทรัพยากรบุคคล ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง พ่อแม่ พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพแขนงต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งสถานที่ประกอบการ ร้านค้า หน่วยงาน

หรือองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่น

( เอกสาร ศน. ที่ 5/2545)

ความเป็นมาและความสำคัญของแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่แพร่หลายทั่วถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ไร้อาณาเขตขวางกั้น สภาพดังกล่าวมีส่วนกระทบถึงวิถีชีวิตของผู้คนพลเมืองโดยทั่วไป เพราะเป็นสภาพที่เอื้ออำนวยในการรับและถ่ายโยงเอาศาสตร์หรือภูมิปัญญาตะวันตกเข้ามาในการพัฒนาประเทศและพัฒนาผลผลิต ตลอดจนการดำเนินชีวิต อย่างมิได้มีการปรับปนกับภูมิปัญญาไทยที่มีความเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ชุมชนชนบทประสบปัญหาดังที่กล่าวว่าชุมชนล่มสลาย อันมีผลรวมไปถึงความทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง การพยายามใช้กลไกลทางการศึกษาจากเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาหลักสูตร ตามความต้องการ ของท้องถิ่น เป็นช่องทางในการประยุกต์เอาภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีจุดเด่น ที่สามารถพิสูจน์ตัวเองในการยืนหยัดอยู่รอดได้ ท่ามกลางกระแส การล่มสลายของชุมชนและการทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อม ดังกล่าว มาสู่หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ในแนวทางของการคิดปฏิบัติจริง จากการประยุกต์ปรับปน ภูมิปัญญาชาวบ้านหรือภูมิปัญญาไทยกับปัญญาสากล เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบคุณค่าภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชน และสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นำมาซึ่งดุลยภาพที่สงบสันติสุขของบุคคล ชุมชนและชาติ






ประเภทของภูมิปัญญาไทย

1. ภูมิปัญญาด้านคติธรรม ความคิด ความเชื่อ หลักการที่เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้
ที่เกิดจากการสั่งถ่ายทอดกันมา

2. ภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นแบบแผนการ
ดำเนินชีวิตที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา

3. ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพในท้องถิ่น ที่ยึดหลักการพึ่งตนเองและ
ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย

4. ภูมิปัญญาด้านแนวความคิด หลักปฏิบัติ และเทคโนโลยีสมัยใหม่
ที่ชาวบ้านนำมาดัดแปลงใช้ในชุมชนอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดสาขาภูมิปัญญาไทย เพื่อนำภูมิปัญญาไทยมาใช้
ในการเรียนรู้และส่งเสริมโดยแบ่งภูมิปัญญาออกเป็น 10 สาขา ดังนี้

1. สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และ
เทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม
สามารถพึ่งพาตนเองในสภาวการณ์ต่าง ๆได้ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน
การแก้ปัญหาการเกษตร

การแก้ปัญหาด้านการผลิต ด้านการตลาด เช่น การแก้ไขโรคและแมลง การรู้จักปรับใช้
เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นต้น

2.สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (ด้านการผลิติและการบริโภค) หมายถึง
การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อชะลอการนำเข้าตลาด
เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นขบวนการ
ใช้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจำหน่าย
ผลผลิตทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารากลุ่มโรงสี
กลุ่มหัตถกรรม เป็นต้น

3.สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษา
สุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทางสุขภาพและอนามัยได้

4. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อม หมายถึงความสามารถเกี่ยวกับ
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์
จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

5. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการ ด้านการ
สะสมและบริหารกองทุนและธุรกิจชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อเสริมสร้าง
ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกในชุมชน

6.สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดการสวัสดิการในการประกันคุณภาพ
ชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม

7. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางศิลปะสาขาต่าง ๆเช่น
จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศีลป์ เป็นต้น

8.สาขาการจัดการ หมายถึง ความสามารถในการบริหารการจัดการดำเนินงานด้านต่าง ๆ
ทั้งองค์กรชุมชน องค์ทางศาสนา องค์กรทางการศึกษา ตลอดทั้งองค์กรทางสังคมอื่น ๆ
ในสังคมไทย เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน ระบบผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน การจัด
ศาสนสถาน การจัดการศึกษา ตลอดทั้งการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น กรณีการจัดการ
ศึกษาเรียนรู้นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาสาขาการจัดการที่มีความ สำคัญ เพราะการจัดการ
ศึกษาเรียนรู้ที่ดี หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ พัฒนาและถ่ายทอดความรู้ทางภูมิปัญญา
ไทยที่มีประสิทธิผล

9.สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถสร้างผลงานทางด้านภาษา
ทั้งภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษา ตลอดทั้งด้านวรรณกรรมทุกประเภท

10.สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำ
สอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีค่าให้ความเหมะสมต่อการประพฤติ
ปฏิบัติ